วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551

กำพล วัชรพล : จอมพลของคนหนังสือพิมพ์

กำพล วัชรพล : จอมพลของคนหนังสือพิมพ์
กราฟชีวิตเริ่มต้นด้วยเลขศูนย์ ผกผันขึ้น ๆ ลง ๆ แล้วผงาดจนถึงหลักสูงสุด และหยุดอยู่อย่างนั้นจนถึงวัยปลาย เจ้าของดวงชะตาที่โดดเด่นดังกล่าวนี้มีชื่อว่า กำพล วัชรพล ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “จอมพลของคนหนังสือพิมพ์”
สัญญลักษณ์ เทียมถนอม คนหนังสือพิมพ์ ผู้เต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่ง “นักเขียน” ได้มีโอกาสใกล้ชิดเจ้าของชีวิประวัติแล้วตีแผ่ออกมาในรูปนวนิยายแห่งชีวิตอันวิจิตรโลดโผนน่าพิศวงชวนติดตาม อ่านแล้วอัศจรรย์ใจเป็นที่สุดว่าชีวิตคนเดียวจะเต็มไปดด้วยความหลากหลายและยิ่งใหญ่ได้ถึงปานนั้น
กำพล วัชรพล ถือกำเนิดจากครอบครัวฐานะยากจน แม่ของเขาเป็นเพียงแม่ค้าเรือเร่แห่งคลองภาษีเจริญ ส่วนพ่อนั้นเร่เรือค้าข้าวไปตามที่ต่าง ๆ ไม่ค่อยมีโอกาสอยู่กับครอบครัวเท่าใดนัก ทิ้งลูกชาย ๓ คน ให้ตกเป็นภาระเลี้ยงดูของผู้เป็นแม่แต่เพียงผู้เดียว
การมีชีวิตที่ยากลำบากมาตั้งแต่ยังเด็ก ส่งผลพลอยได้มหาศาลให้เกิดแก่ตัวเขา กล่าวคือ เขาได้ซึมซับความแข็งแกร่งอดทนไม่ยอมแพ้แก่ดวงชะตาจาก “นางเพียง” ผู้เป็นแม่ เข้าไปสู่จิตใจทีละเล็กละน้อย ซึ่งสิ่งนี้แหละที่ทำให้เขาสามารถเอาชนะอุปสรรคนานาประการที่เกิดขึ้นในชีวิต จนกระทั่งก้าวขึ้นมายืนบนแป้นสูงสุดแห่งชัยชนะ
ถ้าความสำเร็จของคนเรานับเนื่องจาก “การศึกษา” กำพล วัชรพล ก็คงจะอยู่ในข้อที่ “ยกเว้น” เพราะเขาเรียนในโรงเรียนจริง ๆ เพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ต่อจากนั้นก็เริ่มก้าวเข้าสู่ “มหาวิทยาลัยชีวิต” เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากบุคคลรอบข้างที่เปรียบเสมือนแบบเรียนให้เขาได้ฝึกหัดจนแตกฉานช่ำชองบนพื้นฐานสติปัญญาอันฉลาดปราดเปรื่องและพื้นฐานอุปนิสัยช่างสังเกต จดจำ และช่างคิด มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย
“คนที่ฉลาดและแข็งแกร่งเท่านั้น จึงจะอยู่รอดได้” (หน้า ๙๓) เป็นคำสอนของเตี่ย ที่กู่ก้องวนเวียนอยู่ในโสตประสาทของเขาอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของเขาจึงเต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบและการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด เขาเริ่มอาชีพจากเด็กงัดท้ายเรือและขยับขึ้นเป็นนายท้ายเรือโดยสารอยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปเผชิญโชคในเมืองหลวง ด้วยเงินติดตัวเพียง “สิบบาท” พร้อมความเชื่อมั่นว่า “ชีวิตเหมือนการพนัน ต้องมีเดิมพัน หากไม่ได้ก็ต้องเสีย” (หน้า ๑๐๕)
ในเมืองหลวง เขายึดอาชีพถีบสามล้อรับจ้าง และเหลาไม้หมูสะเต๊ะจากทางมะพร้าว เพื่อประทังปากท้องไปวัน ๆ และเขาก็หันเหชีวิตอีกครั้งด้วยสมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ชีวิตลูกประดู่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งที่มีมากมายอยู่แล้วในตัวของเขาให้ทวีขึ้น เขาได้ผ่านศึกสงครามหลายครั้งหลายหน บางครั้งถึงกับเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ละย่างก้าวของชีวิตที่ฟ้าลิขิตให้เกิดมา “ยิ่งใหญ่” จึงเข้มข้นทั้งศึกรบและศึกรัก ที่ลูกผู้ชายชาตินักเลงอย่างเขาจะก้าวเข้าไปถึงได้
ชีวิตของกำพล วัชรพล หันเหอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองคุกรุ่นไปด้วยกลิ่นอาย ไม่สงบ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยครั้งใหญ่ ได้เกิดเหตุบังเอิญที่พาเขาเข้าไปคลุกคลีกับคนในวงการหนังสือพิมพ์ และเขาก็ได้เริ่มงานหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรก ทำหน้าที่เพียงพนักงานคัดลอกข่าวจากกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ในขณะนั้น จนก้าวขึ้นไปสู่คนทำหนังสือคนหนึ่ง
“คนพร้อม อาวุธพร้อม เท่านั้น ก็ออกรบได้แล้ว สำคัญอยู่ที่ว่าจะสร้างสงครามขนาดไหน ให้เหมาะแก่กำลังรบของตนเอง” (หน้า ๒๑๗) นี่คือหลักการที่เขาจะต้องฝ่าให้สำเร็จในวงการหนังสือพิมพ์อันเป็นวงการที่แปลกใหม่สำหรับเขาในเวลานั้นเขามีเพียงหนึ่งสมองและสองมือ ไร้อำนาจบารมีและทรัพย์สินเงินทอง จนแม้กระทั่งตนเองก็มองไม่ออกว่าจะสร้างสงครามขนาดใดจึงจะเหมาะสม แต่อาจจะเป็นด้วยความใจถึง กล้าได้กล้าเสีย และความทะเยอทะยานที่เขามีอยู่เต็มเปี่ยมในหัวใจ ที่ทำให้เขารวบรวมพลกำลังดังกล่าว จนสามารถเปิดกิจการหนังสือพิมพ์ของตนเองได้สำเร็จ
“เราเป็นคนมีความรู้น้อย ต้องทำงานกับคนที่มีความรู้มาก ๆ ทั้งนั้น ก็ต้องรู้ให้ทันเขา” (หน้า ๒๔๖) เป็นสิ่งที่เขาบอกกับตนเองจนเคยชิน ทำให้เขาต้องทำงานหนัก เพื่อที่จะแสวงหาความรู้ให้เท่าทันผู้อื่นอยู่เสมอ เขามีหลักการบริหารที่เข้าถึงจิตใจของลูกน้อง การทำงานของเขาเดิมพันด้วยเลือดเนื้อและชีวิต “อุปสรรคของการทำงานไม่ว่าจะในส่วนใดก็ตาม เขาจะนำกลับมาครุ่นคิด ผลสำเร็จในแต่ละครั้งไม่ว่าจะมากหรือน้อย เขาจะให้การสังเกตต่าง ๆ... ซึ่งเขาใช้มันตลอดเวลาเกือบทุกโมงยามในการทำงาน” (หน้า ๒๔๖) คุณสมบัติดังกล่าวได้สร้างให้เขาเป็นเจ้านายผู้กำหัวใจของลูกน้อง เป็นนักบริหารตัวยงที่มีสูตรการบริหารที่เฉียบขาดและมั่นคง ทุกครั้งที่กิจการประสบมรสุม เขาจะสวมวิญญาณ “นายท้ายเรือ” ผู้เจนจัดทำหน้าที่คัดท้ายจนสามารถพายเรือเข้าถึงฝั่งได้อย่างรอดปลอดภัย
ปัจจุบัน กำพล วัชรพล เป็นเจ้าของและผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทย เขาได้ใช้ชีวิตวัยเจ็บสิบกว่าปี มีความสุขอยู่กับครอบครัว และได้มอบหมายให้บุตรชายและบุตรสาวรับหน้าที่ดูแลกิจการ อันเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเขาเอง “สำหรับเขาในวันนี้ทำหน้าที่เพียงช่วยชี้แนะการปรับหางเสือ “ไทยรัฐ” ให้มุ่งไปสู่พิกัดที่ถูกต้อง สู่เป้าหมายที่ถูกต้อง และเพื่อแล่นไปสู่ความเป็นนิรันดร์กาล” (หน้า ๓๖๖)
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้ คงจะเป็นแบบฉบับให้แก่ผู้ที่กำลังท้อแท้สิ้นหวังต่อโชคชะตาของตนเอง ได้จุดประกายแก่ความหวังขึ้นมาใหม่ เพื่อต่อสู้และเอาชนะสิ่งท้าทายจนสามารถก้าวพ้นอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ ท้ายที่สุดนี้ ขอปรบมือดัง ๆ ให้แก่เจ้าของชีวประวัติ กำพล วัชรพล ยอดขุนพลนักสู้ ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างงดงาม